ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซ์กระทรวงการต่างประเทศ

พลเมืองเยอรมันที่เกิดในประเทศไทย และการขอหนังสือเดินทางเยอรมันเล่มแรก

Deutscher Reisepass

Deutscher Reisepass, © colourbox

16.08.2024 - บทความ

พลเมืองเยอรมันที่เกิดในประเทศไทย และการขอหนังสือเดินทางเยอรมันเล่มแรก

สัญชาติเยอรมัน

เด็กที่เกิดในต่างประเทศจะได้รับสัญชาติเยอรมันโดยอัตโนมัติ หากมารดาเป็นบุคคลสัญชาติเยอรมัน

หากบิดาเป็นบุคคลสัญชาติเยอรมัน บุตรจะได้รับสัญชาติเยอรมันโดยอัตโนมัติก็ต่อเมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันก่อนที่เด็กจะเกิด หากบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเป็นต้องจดทะเบียนรับรองความเป็นบิดา-บุตรก่อน การระบุชื่อบิดาชาวเยอรมันในสูติบัตรไทยของบุตรนั้น ยังมิได้มีผลทำให้บุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาแต่อย่างใด ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจดทะเบียนรับรองความเป็นบิดา-บุตรสามารถอ่านได้จาก เอกสารแนะนำที่นี่

หากบิดามารดามีการจดทะเบียนสมรสภายหลังจากที่บุตรเกิดแล้ว บุตรจะได้รับสัญชาติเยอรมันผ่านหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ มีการจดทะเบียนสมรสเกิดขึ้นในประเทศไทย มีการบันทึกข้อมูลของบุตรลงในทะเบียนสมรส และมีการระบุชื่อของสามีเป็นบิดาลงในสูติบัตรไทยของบุตรเท่านั้น ในกรณีอื่น จะต้องมีการจดทะเบียนรับรองความเป็นบิดา-บุตรตามกฎหมายเยอรมันหรือกฎหมายไทยก่อน

หมายเหตุสำคัญ: หากผู้ปกครองที่มีสัญชาติเยอรมันเกิดในต่างประเทศหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เด็กที่เกิดในต่างประเทศจะได้รับสัญชาติเยอรมันก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเกิดที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีก่อนที่เด็กจะมีอายุครบหนึ่งขวบปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

การกำหนดนามสกุลของบุตร

การกำหนดนามสกุลของบุตรในหนังสือเดินทางเยอรมันนั้น จะยึดตามหลักกฎหมายเยอรมัน ซึ่งอาจแตกต่างจากนามสกุลในสูติบัตรไทย

โดยในกฎหมายเยอรมันมีกฎเกณฑ์การกำหนดนามสกุลดังต่อไปนี้

  1. หากบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันก่อนที่เด็กจะเกิด และได้เลือกใช้นามสกุลร่วมกันจากการสมรส บุตรที่เกิดมาก็จะใช้นามสกุลนั้นโดยอัตโนมัติ
  2. หากบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันก่อนที่เด็กจะเกิด แต่เลือกใช้นามสกุลต่างกัน จะต้องทำเรื่องระบุนามสกุล (Namenserklärung) หรือแจ้งเกิด (Geburtsanzeige/ขอสูติบัตรเยอรมัน) ให้แก่บุตรก่อน (ดูข้อ 3) รวมทั้งในกรณีที่มารดาของเด็กเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของสามีในภายหลัง
  3. หากบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่บุตรเกิด บตรจะใช้นามสกุลของมารดา นามสกุลที่ระบุในสูติบัตรของไทย จะไม่มีผลต่อการกำหนดนามสกุลตามกฎเกณฑ์นี้ หากต้องการใช้นามสกุลอื่นที่แตกต่างออกไปจากกฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ข้างต้น (เช่น หากต้องการให้บุตรใช้นามสกุลบิดา) สามารถแจ้งขอกำหนดนามสกุล หรือแจ้งเกิดย้อนหลังเพื่อขอสูติบัตรเยอรมันที่สถานทูตฯ การกำหนดนามสกุลของเด็กจะมีผลตามกฎหมายหลังจากที่สำนักงานทะเบียนของเยอรมนีทำการรับรองนามสกุลดังกล่าว โดยขั้นตอนในการอนุมัตินี้อาจใช้เวลาหลายเดือนถึงหนึ่งปี (ในกรณีพิเศษอาจใช้เวลาหลายปี) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานทะเบียนในเยอรมนีที่รับผิดชอบ

การแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตรเยอรมัน (Geburtsanzeige)

ชาวเยอรมันที่เกิดในต่างประเทศสามารถแจ้งเกิดย้อนหลังเพื่อขอสูติบัตรเยอรมันกับสำนักงานทะเบียนเยอรมันที่รับผิดชอบได้ เมื่อเด็กหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจปกครองมีสูติบัตรเยอรมันแล้ว จะทำให้การติดต่อกับหน่วยงานราชการเยอรมันสะดวกยิ่งขึ้น การแจ้งเกิดย้อนหลังสามารถยื่นใบคำร้องพร้อมเอกสารแนบดังที่ระบุไว้ด้านล่างได้ที่สถานทูตฯ ซึ่งจะเป็นผู้ส่งคำร้องและเอกสารไปยังสำนักทะเบียนที่รับผิดชอบต่อไป ใบคำร้องสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ นอกจากนี้ท่านยังสามารถส่งคำร้องไปที่สำนักงานทะเบียนที่รับผิดชอบได้โดยตรง โดยให้แนบเอกสารประจำตัวและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปด้วย โปรดตรวจสอบกับสำนักงานทะเบียนเยอรมันที่รับผิดชอบของท่านโดยตรง (ณ ที่อยู่ปัจจุบัน หรือสถานที่พำนักสุดท้ายของท่านในเยอรมนี) ว่าท่านสามารถส่งใบคำร้อง และเอกสารต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการรับรองลายมือชื่อ และการรับรองสำเนา/รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงโดยสถานทูตเยอรมนีได้หรือไม่ 

เอกสารประกอบการยื่นขอหนังสือเดินทางเล่มแรก และ/หรือการแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตรเยอรมัน

ท่านจะต้องแสดงเอกสารฉบับจริงทั้งหมดให้กับสถานทูตฯ ซึ่งรวมทั้งในกรณีที่ท่านได้ส่งเอกสารชุดเดียวกันนี้เพื่อดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ให้กับทางสถานทูตฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว เอกสารที่ไม่ได้ออกเป็นภาษาเยอรมันจะต้องมีคำแปลภาษาเยอรมันจาก ผู้แปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนี 

เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารที่จำเป็นต้องแสดงให้กับทางสถานทูตฯ ทุกกรณี และจะต้องส่งให้กับสถานทูตฯ ทางอีเมลล่วงหน้าก่อนทำการนัดหมาย

  • สูติบัตร(ไทย)ของเด็ก
  • (หากมี) บัตรประจำตัวประชาชนของเด็ก
  • หนังสือเดินทางของบิดาและมารดา
  • สูติบัตรของบิดาและมารดา
  • (หากมี) สูติบัตรของพี่น้องของเด็ก
  • (หากมี) เอกสารแจ้งย้ายออกจากประเทศเยอรมนี (Abmeldebescheinigung) (ในกรณีที่หนังสือเดินทางเยอรมัน ระบุสถานที่พำนักว่าอยู่ในต่างประเทศ)
  • (หากมี) หลักฐานอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (เช่น คำสั่งศาลเรื่องอำนาจปกครอง คำพิพากษาของศาลเรื่องการหย่า มรณบัตรของผู้ปกครองอีกฝ่าย) 

หากบิดามารดาของเด็กจดทะเบียนสมรสกันจะต้องแสดงเอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบสำคัญการสมรสของบิดามารดา (เอกสารของไทยมีอักษรย่อว่า คร.3)
  • หากมีการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยต้องยื่นทะเบียนสมรส (คร.2) ด้วย

หากบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่บุตรเกิด จะต้องแนบเอกสารเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • หลักฐานรับรองความเป็นบิดา-บุตร เช่น เอกสารยืนยันความเป็นบิดาของเด็ก หรือหลักฐานรับรองการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายไทย (ดูเอกสารแนะนำเรื่อง "การจดทะเบียนรับรองความเป็นบิดา-บุตร") การระบุชื่อบิดาลงในสูติบัตรไทยยังมิได้มีผลทำให้บุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาแต่อย่างใด
  • หนังสือรับรองสถานภาพสมรส/รับรองความเป็นโสดของมารดาที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลาจนถึงวันที่เด็กเกิด ออกโดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เขตดุสิต (คําร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัว)
    หากมารดามีสัญชาติอื่น กรุณาทำการติดต่อสถานทูตฯ ล่วงหน้า
  • สําหรับมารดาที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2528 ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติมได้แก่
    หนังสือรับรองสถานภาพสมรส/รับรองความเป็นโสดของมารดาที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลาจนถึงวันที่เด็กเกิดออกโดยที่ว่าการอำเภอไทย หรือสำนักงานเขตที่มารดาอาศัยอยู่

กรณีมารดาเคยสมรสมาก่อน และการสมรสดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว ให้แสดงเอกสารเพิ่มเติมดังนี้

สําหรับผู้ที่ผ่านการสมรสมามากกว่า 1 ครั้ง ต้องแสดงหลักฐานการสมรสและการสิ้นสุดการสมรสทุกครั้ง

ในบางกรณี อาจต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม

เอกสารภาษาไทยจะต้องมีคำแปลภาษาเยอรมันแนบมาด้วย สถานทูตฯ จะรับเฉพาะเอกสารที่แปลโดยผู้แปลที่ขึ้นทะเบียนกับศาลในประเทศเยอรมนีเท่านั้น โดยท่านสามารถใช้บริการกับนักแปลได้ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ท่านควรใช้บริการแปลจากนักแปลคนเดียวกัน เพื่อที่การสะกดชื่อเฉพาะต่าง ๆ จะได้ตรงกันทุกฉบับ ทางสถานทูตฯ ไม่รับเอกสารที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือแปลโดยนักแปลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

เอกสารที่ออกจากประเทศอื่นอาจต้องได้รับการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง (Legalisation) หรือขอตราประทับ (Apostille) จากหน่วยงานของประเทศดังกล่าวก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศที่ออกเอกสาร โปรดตรวจสอบข้อกำหนดต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของสถานทูตเยอรมนีในประเทศที่มีการออกเอกสารดังกล่าว ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

สำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องในเยอรมนีอาจร้องขอให้ท่านทำการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง (Legalisation) สำหรับเอกสารที่ออกนอกประเทศเยอรมนี สถานทูตฯ จึงขอแนะนำให้ท่านทำการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงสำหรับเอกสารทุกฉบับล่วงหน้าก่อนที่จะนำมายื่นให้กับทางสถานทูตฯ เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องมาทำเรื่องย้อนหลังหากมีการร้องขอ ท่านสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงซึ่งออกโดยหน่วยราชการในประเทศไทยได้ที่เอกสารแนะนำของสถานทูตฯ

การนัดหมาย

ท่านสามารถได้รับนัดหมายการแจ้งเกิด และยื่นขอหนังสือเดินทางในวันเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องขอนัดหมายแต่ละเรื่องแยกกัน โดยให้ท่านส่งอีเมลเพื่อทำการนัดหมายมาที่สถานทูตฯ ตามที่อยู่อีเมลนี้ (pass@bangk.diplo.de) และให้สแกนเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุข้างต้นแนบเป็นไฟล์ PDF มากับอีเมลของท่าน (ไฟล์แนบที่ส่งได้สูงสุดคือ 8MB ต่ออีเมล)

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป การขอหนังสือเดินทางครั้งแรก และการยื่นคำร้องที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น การแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตรเยอรมัน และการกำหนดสกุลสามารถทำได้ที่สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ เท่านั้น การยื่นคำร้องกับกงสุลกิตติมศักดิ์ในประเทศไทยไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

--
การสงวนสิทธิ์
รายละเอียดในเอกสารฉบับนี้มาจากประสบการณ์และข้อมูลที่สถานทูตฯ มีอยู่ ณ วันที่จัดทำเอกสารนี้
สถานทูตฯ ขอสงวนสิทธิปฏิเสธความรับผิดชอบและการเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ทางกฎหมายจากเอกสารฉบับนี้

ไปด้านบน