ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซ์กระทรวงการต่างประเทศ

คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส

Frauenhand mit Ehering, © colourbox

บทความ

คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส

ข้อมูลเบื้องต้น

ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ โดยการจดทะเบียนสมรสในสถานทูตเยอรมนีนั้นไม่สามารถกระทำได้ และการจัดงานสมรสตามพิธีทางพุทธศาสนา โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนของสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ จะไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศเยอรมนี

สำนักทะเบียน (ในเยอรมนีและไทย) แต่ละแห่งนั้น อาจมีดุลยพินิจในการดำเนินการจดทะเบียนสมรสที่แตกต่างกัน ขอแนะนำให้ท่านติดต่อสอบถามเงื่อนไขต่าง ๆ โดยตรงกับสำนักทะเบียนที่ท่านประสงค์จะทำการจดทะเบียนสมรส

สำนักทะเบียนเขตบางรักได้แจ้งสถานทูตฯ ว่า การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • พยานบุคคลที่ไปแสดงตัวในวันจดทะเบียนสมรสจะต้องรู้จักกับคู่สมรส ทั้งนี้จะเป็นการดีหากพยานเป็นญาติของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้
  • นอกจากนี้ต้องนำล่ามแปลภาษาไปด้วย หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจภาษาไทยดีเพียงพอ
  • สำหรับคู่สมรสที่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข อาจไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้

สถานทูตฯ ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเงื่อนไขในการดำเนินการจดทะเบียนสมรสจากสำนักทะเบียนไทยอื่น ๆ 

การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย คู่สมรสสามารถยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียน (สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ) ใดก็ได้ได้ตามความประสงค์ บางสำนักทะเบียน เช่น สำนักทะเบียนเขตบางรัก จะจำกัดจำนวนคู่สมรสที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ในแต่ละวัน เมื่อมีผู้ยื่นความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสครบจำนวนคู่ตามที่กำหนด สำนักทะเบียนจะไม่สามารถรับดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้อีก

การจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับบุคคลสัญชาติไทย

1. การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

คุณสมบัติของคู่สมรสสัญชาติไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มีดังต่อไปนี้ (ตัดตอนบางส่วน)

  • มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 
  • มีความสามารถในการทำธุรกรรมทางกฎหมายได้
  • ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงกับคู่สมรสของตน
  • บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
  • หญิงที่คู่สมรสตาย หรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องมี “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Ehefähigkeitszeugnis) เอกสารนี้จะออกโดยสำนักทะเบียนในประเทศเยอรมนีที่คู่สมรสสัญชาติเยอรมันมีถิ่นพำนักอยู่ หรือเคยมีถิ่นพำนัก หรือสังกัดอยู่ สถานทูตฯ ไม่สามารถออกเอกสารนี้ให้ได้

ขั้นตอนในการขอ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบกับคำร้องขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ (สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่สำนักทะเบียน หรือสถานทูตฯ) เพื่อให้สำนักทะเบียนเยอรมันตรวจสอบว่าคู่สมรสทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเยอรมันที่จะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ตรวจสอบรายละเอียดการเตรียมเอกสารและการดำเนินการกับสำนักทะเบียนเยอรมันที่รับผิดชอบโดยตรง

เอกสารราชการของไทยสามารถขอรับได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่คู่สมรสสัญชาติไทยมีทะเบียนบ้านอยู่ ไม่สามารถขอเอกสารผ่านทางสถานทูตได้

ก่อนที่จะยื่นเอกสารทางราชการของไทยแนบไปกับคำร้องขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ต่อสำนักทะเบียนเยอรมัน ท่านจะต้องนำเอกสารเหล่านี้ไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน และโดยปกติแล้วเอกสารทางราชการของไทยตัวจริง จะต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง (Legalisationsvermerk) หรือรับรองไม่ปลอมแปลง (Echtheitsvermerk) จากสถานทูตฯ ก่อน (เอกสารแนะนำในเรื่องของการรับรองเอกสารอ่านได้ที่นี่) โดยสำนักทะเบียนของเยอรมันจะเป็นผู้แจ้งว่าเอกสารราชการของไทยจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง หรือรับรองไม่ปลอมแปลงจากทางสถานทูตเยอรมนีหรือไม่ 

การแปลเอกสารภาษาไทยเป็นภาษาเยอรมันนั้น สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลเอกสารจากนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนี ท่านสามารถดูรายชื่อนักแปลได้ที่ สำนักงานแปลเอกสารในประเทศไทย 

ในกรณีที่ท่านมีฉบับแปลอยู่แล้ว และแปลโดยนักแปลที่มิได้รับการอนุญาตจากศาลหรือขึ้นทะเบียนต่อศาลในประเทศเยอรมนี ท่านควรติดต่อนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบรับรองคำแปลนั้นเสียก่อน จึงจะนำไปแสดงต่อสำนักทะเบียนเยอรมันได้ ทั้งนี้ สถานทูตฯ ไม่มีบริการตรวจสอบรับรองคำแปลให้

การขอให้ออกหนังสือรับรอง (Konsularbescheinigung)

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องมีหนังสือรับรองที่ออกโดยสถานทูตฯ และต้องยื่นเอกสารรับรองนี้ให้กับสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้หนังสือรับรองของสถานทูตฯ จะออกให้เป็น 2 ภาษา ทั้งเยอรมันและไทย

ในการขอให้ออกหนังสือรับรองเพื่อแสดงต่อนายทะเบียนของไทย กรุณาส่งเอกสารดังต่อไปนี้มาให้สถานทูตฯ ล่วงหน้าทางอีเมล์ได้ที่ rk-130@bangk.auswaertiges-amt.de

  • หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ (มีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออกเอกสาร) 
  • หนังสือเดินทางของคู่สมรสทั้งสองคน
  • แบบสอบถามที่มีรายการข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสสัญชาติเยอรมัน (แบบสอบถามโหลดได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ) โดยจะเป็นข้อมูลที่หน่วยงานของไทยต้องการทราบ

ระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองคือ อย่างน้อย 15 วันทำการ โดยทางสถานทูตฯ จะเริ่มนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปีจะมีการส่งคำขอเข้ามามากกว่าในช่วงปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานทูตฯ ใช้เวลาในการดำเนินการนานขึ้นได้

ทั้งนี้สถานทูตฯ จะไม่ตอบยืนยันการได้รับเอกสารของท่าน แต่จะแจ้งกลับไปยังคู่สมรสสัญชาติเยอรมันทางอีเมล เพื่อแจ้งว่าจะเข้ามารับเอกสารได้เมื่อใด และต้องนัดหมายอย่างไร

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันสามารถยื่นฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเดินทางเยอรมันกับสำนักทะเบียนไทยล่วงหน้าได้ ทั้งนี้กรุณาสอบถามกับสำนักทะเบียนของไทยโดยตรงว่าต้องยื่นเอกสารใดบ้าง นอกจากนั้น ท่านสามารถส่งฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเดินทางเยอรมันมาพร้อมเอกสารอื่น ๆ ได้ เพื่อให้สถานทูตสะกดชื่อ-นามสกุลคู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยตามฉบับแปลนั้น

ในวันที่นัดหมายกับสถานทูตฯ เพื่อรับหนังสือรับรอง คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องมาแสดงตัวด้วยตนเองเพื่อมาลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองนี้

และจะต้องแสดงเอกสารในวันที่มารับเอกสารคือ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตัวจริง และหนังสือเดินทางตัวจริงของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย (ในกรณีไม่ได้นำหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดง สามารถใช้สำเนาหนังสือเดินทางที่ผ่านการรับรองจากหน่วยราชการเยอรมันแล้วแสดงแทนได้)

ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรองคือ 85.68 ยูโร ให้ชำระในวันที่มีนัดรับเอกสารเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนของสถานทูตฯ ในวันดังกล่าว (สามารถชำระได้เป็นเงินสดหรือด้วยบัตรเครดิต Visa/Mastercard)

กรณีคู่สมรสมีบุตรร่วมกันแล้ว และบุตรเกิดในประเทศไทย ขอให้ยื่นสูติบัตรของบุตรฉบับภาษาไทยด้วย เพื่อที่สถานทูตฯ จะได้สะกดชื่อคู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกต้องตรงกับการสะกดในสูติบัตรของบุตร

หลังจากนั้นจะต้องนำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้สถานทูตฯ ไม่มีบริการนำหนังสือไปรับรองยังกระทรวงการต่างประเทศให้ท่าน

สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เชียงใหม่ ภูเก็ตและพัทยา ไม่สามารถออกหนังสือรับรองเพื่อการสมรสได้ แต่ท่านสามารยื่นเอกสารเพื่อขอหนังสือรับรองผ่านทางสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เชียงใหม่และภูเก็ตได้ โดยคู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องมาแสดงตัวในวันที่มีนัดรับหนังสือรับรองนี้ที่สถานทูตฯ กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง ไม่สามารถรับหนังสือรับรองจากกงสุลกิตติมศักดิ์ได้

2. การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี

การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนีจะดำเนินการ ณ สำนักทะเบียน โดยคู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องขอเอกสารนัดหมายในการจดทะเบียนสมรส ที่เรียกว่า Anmeldung zur Eheschließung (แบบฟอร์มนี้ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนเยอรมันที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนสมรส) กรณีที่คู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการขอเอกสารนี้แต่เพียงผู้เดียว  คู่สมรสสัญชาติไทยต้องมอบอำนาจให้คู่สมรสสัญชาติเยอรมันไปแจ้งความประสงค์แทนตน  โดยต้องทำหนังสือมอบอำนาจที่เรียกว่า Vollmacht zur Anmeldung der Eheschließung แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจนี้ ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนเยอรมันที่คู่สมรสจะจดทะเบียนสมรส หากสำนักทะเบียนเยอรมันต้องการให้มีการรับรองลายมือชื่อของคู่สมรสสัญชาติไทย ท่านสามารถมาติดต่อสถานทูตฯ เพื่อทำเรื่องขอรับรองลายมือชื่อแบบมีค่าใช้จ่าย โดยทำการนัดหมายที่ระบบนัดหมายเพื่อรับรองลายมือชื่อที่นี่

การแปลเอกสารไทยเป็นภาษาเยอรมันจะดำเนินการแปลในประเทศไทยหรือประเทศเยอรมนีก็ได้

แต่ทั้งนี้สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลจากนักแปลคนเดียวเพื่อที่การสะกดชื่อเฉพาะต่าง ๆ ในเอกสารจะได้ถูกต้องตรงกันทุกฉบับ เพราะนักแปลแต่ละคนก็มีวิธีการถ่ายทอดภาษาไทยเป็นตัวสะกดภาษาเยอรมันที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนั้นแล้ว โดยปกติสำนักทะเบียนเยอรมันจะมีความประสงค์ให้นำเอกสารราชการของไทยตัวจริงมารับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือการรับรองไม่ปลอมแปลงจากสถานทูตฯ ด้วย

สถานทูตขอแจ้งให้ทราบว่า คู่สมรสสัญชาติไทยที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี และพำนักระยะยาว (มากกว่า 90 วัน) ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีโดยใช้วีซ่าเชงเก็น และอาจถูกสั่งให้ออกนอกประเทศได้หากฝ่าฝืน

การสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับเยอรมัน หรือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ในประเทศไทย

การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

เมื่อคู่สมรสสัญชาติเยอรมันทั้งสองนำ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” ของทั้งคู่เพียงฉบับเดียวมาแสดง สถานทูตฯ จะออก “หนังสือรับรอง” ให้คนละฉบับ เพื่อนำไปแสดงต่อสำนักทะเบียนของไทยในการยื่นขอจดทะเบียนสมรสต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองอย่างน้อย 15 วันทำการ ทั้งนี้คู่สมรสทั้งสองต้องแสดงหนังสือเดินทางของตน  (หรือสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยราชการเยอรมัน) และเมื่อยื่นคำร้องขอใบรับรอง คู่สมรสแต่ละฝ่ายจะต้องยื่นแบบสอบถามที่กรอกข้อมูลมาครบถ้วนล่วงหน้ามาพร้อมกับคำร้องขอออกใบรับรองด้วย 

การดำเนินการจะเริ่มหลังจากสถานทูตฯ ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้วเท่านั้น

คู่สมรสทั้งสองไม่จำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับเอกสารด้วยตนเอง หากมีการยื่นเอกสารทุกอย่างที่จำเป็นในการออกหนังสือรับรองครบถ้วนมาที่สถานทูตฯ คือ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตัวจริง  แบบสอบถามที่กรอกข้อมูลของทั้งสองฝ่าย และสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยราชการเยอรมันหรือหนังสือเดินทางตัวจริงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีการชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่อนุญาตให้รับเอกสารนอกเวลาทำการ (8.30-11.30 น.) โดยเด็ดขาด

เนื่องจากคู่สมรสทั้งสองไม่จำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับเอกสารด้วยตนเอง สถานทูตฯ สามารถจัดส่งหนังสือรับรองไปให้ยังที่อยู่ในประเทศเยอรมนีได้  หากมีการยื่นเอกสารทุกอย่างที่จำเป็นในการออกหนังสือรับรองครบถ้วนล่วงหน้า และมีใบรับรองว่าจะชำระค่าธรรมเนียม (Kostenübernahmeerklärung) แนบมาพร้อมกัน  ทั้งนี้สถานทูตฯ จะไม่ตอบยืนยันการได้รับเอกสารของท่าน 

ทั้งนี้ หลังจากนั้นจะต้องนำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้สถานทูตฯ ไม่มีบริการนำหนังสือไปรับรองยังกระทรวงการต่างประเทศให้ท่าน

กรณีบุคคลสัญชาติเยอรมันจะจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติอื่น (ที่มิใช่สัญชาติไทย) คู่สมรสที่ถือสัญชาติอื่นต้องติดต่อสถานทูตฯ ของตนเอง เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองให้ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยนั้น สถานทูตฯ ขอแนะนำให้คู่สมรสสัญชาติเยอรมันที่มีสถานภาพ “หย่า” นำ “คำพิพากษาของศาล” ที่แสดงว่าได้หย่าจากคู่สมรสเดิมติดตัวมาด้วย 

สถานทูตฯ ไม่อาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่หรืออีเมลของสำนักทะเบียนต่าง ๆ ของไทยได้  ในทางปฏิบัติการจดทะเบียนสมรสของไทยจะกระทำ ณ สำนักทะเบียน (สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ) ส่วนการสมรสนอกสถานที่สามารถกระทำได้หรือไม่นั้น กรุณาติดต่อสำนักทะเบียนที่รับผิดชอบโดยตรง

สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ท่านนำใบสำคัญการสมรส (คร. 3) และทะเบียนสมรส (คร. 2) ของไทยมาติดต่อที่สถานทูตฯ เพื่อขอให้ดำเนินการรับรองว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง/ไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ด้วย เพื่อให้สามารถใช้เอกสารดังกล่าวกับหน่วยราชการในประเทศเยอรมนีได้ (เช่น การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี เป็นต้น) ท่านสามารถอ่านข้อมูลในเอกสารแนะนำเกี่ยวกับการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงได้ที่นี่

ระเบียบการขอวีซ่า/สิทธิในการอยู่อาศัย

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดของระเบียบที่เกี่ยวกับกฎหมายสำหรับชาวต่างชาติ และข้อมูลรวมทั้งเอกสารแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอวีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในประเทศเยอรมนี ได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ ในหมวด “วีซ่าและการเดินทาง” ได้ที่นี่

หากท่านมีคำถามเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลที่ระบุบนเว็บไซต์ของสถานทูตฯ สามารถติดต่อกับแผนกวีซ่าของสถานทูตฯ โดยตรง ได้ทางอีเมล visa@bangk.diplo.de

โดยทั่วไป แผนกวีซ่าจะให้ข้อมูลหลังจากที่ท่านยื่นคำร้องขอวีซ่าแล้ว และจะแจ้งกับผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าโดยตรงเท่านั้น ไม่แจ้งกับบุคคลที่สาม

สถานทูตฯ ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับวีซ่าของไทยสำหรับบุคคลสัญชาติเยอรมันหลังการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทยได้ กรุณาติดต่อหน่วยงานราชการไทยโดยตรง

--

การสงวนสิทธิ์: 

คำแนะนำนี้อ้างอิงจากความรู้และประสบการณ์ของสถานทูตฯ ณ เวลาที่จัดทำขึ้น การเรียกร้องทางกฎหมายใด ๆ จากคำแนะนำนี้ไม่สามารถกระทำได้ สถานทูตฯ ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การสูญหายของเอกสารทางไปรษณีย์ เป็นต้น

ดาวน์โหลดเอกสารแนะนำเพิ่มเติมและแบบฟอร์มคำร้องดังนี้:

Die deutsche Botschaft Bangkok hat für Sie Listen von Übersetzern zusammengestellt. Die Botschaft weist darauf hin, dass sie lediglich Übersetzungen von Übersetzern berücksichtigen kann, die in…

Übersetzungsbüros in Thailand

ไปด้านบน