ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซ์กระทรวงการต่างประเทศ
คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส
Frauenhand mit Ehering, © colourbox
คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส
ข้อมูลควรทราบ
การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย คู่สมรสสามารถยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอใดก็ได้โดยมิต้องนัดหมายล่วงหน้า แต่ทั้งนี้สำนักทะเบียนแต่ละแห่งอาจจะจำกัดจำนวนคู่สมรสที่สามารถจดทะเบียนให้ได้ในแต่ละวันไว้ เช่น สำนักงานเขตบางรัก เป็นต้น เมื่อมีผู้ยื่นความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสครบจำนวนคู่ตามที่กำหนด สำนักทะเบียนก็ไม่สามารถรับดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้อีก
สำหรับการจดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานเขตบางรัก สถานทูตฯ ได้รับแจ้งว่า คู่สมรสจะต้องนำพยานบุคคลไปด้วย 2 คน และพยานต้องรู้จักคู่สมรสเป็นอย่างดี หนึ่งในพยานควรเป็นญาติของคู่สมรส พยานต้องพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ หากคู่สมรสไม่มีความรู้ภาษาไทยดีเพียงพอที่จะสื่อสารกับนายทะเบียน คู่สมรสต้องนำล่ามแปลภาษาไปด้วย
สถานทูตฯ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขหรือกฎระเบียบในการยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภออื่นๆ ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรส ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายทะเบียนเป็นสำคัญ สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงจากสำนักทะเบียน/ที่ว่าการอำเภอที่ท่านประสงค์จะจดทะเบียนสมรสด้วย
การจดทะเบียนสมรสในสถานทูตเยอรมันไม่สามารถกระทำได้ และการสมรสตามประเพณีศาสนา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนของเขตหรือที่ว่าการอำเภอ จะไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศเยอรมนี รวมทั้งการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน และการทำสัญญาสมรสแบบ Partnership ไม่สามารถกระทำได้ในประเทศไทย
1. การจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับบุคคลสัญชาติเยอรมัน
1.1. การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย
คุณสมบัติของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 1448-1453 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 ของไทย มีเนื้อหาโดยย่อดังนี้
- อายุอย่างต่ำ 20 ปี (ไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือศาลอนุญาตให้สมรสได้แล้วแต่กรณี)
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงกับคู่สมรสของตน
- ชายหรือหญิงจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
หญิงที่สามีตาย หรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (ในกรณีคู่สมรสสัญชาติไทยที่จะจดทะเบียนในประเทศไทย นายทะเบียนอาจผ่อนผันไม่ต้องยึดถือตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ หากฝ่ายหญิงสามารถแสดงหลักฐานว่าตนเองมิได้อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์)
คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันจะต้องนำ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่าEhefähigkeitszeugnis) ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 เดือนมาแสดงที่สถานทูตฯ เพื่อขอให้สถานทูตฯ ออก “หนังสือรับรอง” (Konsularbescheinigung) และนำไปแสดงต่อนายทะเบียนของไทย ณ สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ ที่คู่สมรสทั้งสองประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกัน
ขั้นตอนในการขอ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้”
คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันจะต้องยื่นคำร้องขอหนังสือดังกล่าวต่อทางสำนักทะเบียนที่ตนมีถิ่นพำนักสังกัดในประเทศเยอรมัน ในกรณีที่ไม่มีถิ่นพำนักในประเทศเยอรมันต้องยื่นคำร้องขอไปยังสำนักทะเบียนเยอรมันที่ผู้ร้องเคยแจ้งพำนักอยู่เป็นครั้งสุดท้าย แบบฟอร์มคำร้องขอรับได้ที่สถานทูตฯ หรือที่สำนักทะเบียนเยอรมัน ทั้งนี้ในการยื่นคำร้องคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันจะต้องแสดงเอกสารของตน และของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยต่อนายทะเบียนเยอรมันด้วย เพราะนายทะเบียนจะต้องตรวจสอบว่าคู่สมรสทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเยอรมันที่จะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่
เอกสารของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันมีดังนี้ *
1. หนังสือเดินทาง หรือ บัตรประชาชน
2. ใบรับรองถิ่นพำนักในประเทศเยอรมัน หรือ ใบแจ้งย้ายถิ่นพำนักออกจากประเทศเยอรมนี
3. สูติบัตร
4. กรณีเคยสมรสแล้ว แสดงคำพิพากษาหย่าที่มีตราประทับรับรองว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หรือ มรณบัตรของคู่สมรสเดิม
เอกสารของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยมีดังนี้ *
- หนังสือเดินทาง หรือ บัตรประชาชน
- สูติบัตร หรือ หนังสือรับรองการเกิดที่มีรายละเอียดครบถ้วนเช่นเดียวกับสูติบัตร
- สำเนาทะเบียนบ้าน และ/หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร
- คำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัวจากสำนักทะเบียนกลาง ที่แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการสมรส-การหย่าด้วยคอมพิวเตอร์
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพโสด
- หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าเป็นบุคคลที่ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับผู้ใด **
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพหม้าย
- หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าหลังจากที่คู่สมรสเสียชีวิตแล้ว ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก **
- ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) และ/หรือใบสำคัญการสมรส
- มรณบัตรของคู่สมรส
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพหย่า
- หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าหลังจากหย่าจากคู่สมรสเดิมแล้วยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก **
- ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) กับคู่สมรสเดิม หรือทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวเรื่องการสมรส (กรณีสมรสในต่างประเทศ)
- ทะเบียนการหย่า พร้อมบันทึก (คร. 6) กับคู่สมรสเดิม หรือทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวเรื่องการหย่า(กรณีหย่าในต่างประเทศ)
- ใบสำคัญการหย่า (คร. 7)
- คำพิพากษาของศาลให้หย่า และ/หรือสัญญาประนีประนอมยอมความและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (เฉพาะผู้ร้องที่หย่าตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น)
- ในบางกรณี อาจต้องแสดงหนังสือรับรองการหย่าจากหน่วยงานยุติธรรมในประเทศเยอรมนี ว่าการหย่าของไทยเป็นที่ยอมรับของเยอรมันแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่หย่าโดยความสมัครใจ ณ สำนักทะเบียนเขต/อำเภอในประเทศไทย แบบฟอร์มคำร้องขอให้รับรองการหย่า ขอได้ที่สถานทูตฯ สำนักทะเบียนเยอรมัน หรือจาก
https://www.berlin.de/sen/justiz/
ข้อมูลเรื่องการรับรองการหย่านี้ ดูได้จากแผ่นคำแนะนำของสถานทูตฯ (เป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น ไม่มีภาษาไทย)
เอกสารของคู่สมรสสัญชาติไทย ติดต่อขอได้จากสำนักทะเบียนในสังกัด สถานทูตฯ ไม่มีหน้าที่ช่วยจัดหาเอกสารให้
การรับรองความถูกต้องของเอกสาร และการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง
ในการยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเยอรมัน ท่านจะต้องแสดงเอกสารตัวจริงต้นฉบับพร้อมคำแปลภาษาเยอรมันด้วย และโดยปกติแล้วเอกสารต้นฉบับภาษาไทย จะต้องผ่านการรับรองความถูกต้อง (Legalisationsvermerk) หรือรับรองไม่ปลอมแปลง (Echtheitsvermerk) จากสถานทูตฯ ก่อน จุดประสงค์ของการรับรองเอกสารก็เพื่อให้เอกสารของท่านเป็นที่ยอมรับได้ของทางการเยอรมัน ดังนั้นคู่สมรสสมควรที่จะสอบถามนายทะเบียนของเยอรมันด้วยว่า เอกสารต้นฉบับภาษาไทยจำเป็นต้องผ่านการรับรองความถูกต้อง หรือรับรองไม่ปลอมแปลงโดยสถานทูตเยอรมันหรือไม่ กรณีที่จำเป็น โปรดศึกษารายละเอียดจากแผ่นคำแนะนำเรื่องการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงด้วย ทั้งนี้ในการขอให้รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง ท่านไม่จำเป็นต้องแสดงคำแปลภาษาเยอรมันต่อทางสถานทูตฯ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแสดงเอกสารต่อนายทะเบียนเยอรมัน ท่านจะต้องมีคำแปลภาษาเยอรมันแนบไปด้วยเสมอ
การแปลเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน
การแปลเอกสารไทยเป็นภาษาเยอรมันจะดำเนินการแปลในประเทศไทยหรือประเทศเยอรมนีก็ได้ แต่ทั้งนี้สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลจากล่ามหรือผู้แปลคนเดียวเพื่อที่การสะกดชื่อเฉพาะต่างๆ ในเอกสารจะได้ถูกต้องตรงกันทุกฉบับ เพราะล่ามแต่ ละคนก็มีวิธีการถ่ายทอดภาษาไทยเป็นตัวสะกดภาษาเยอรมันที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจทำให้หน่วยราชการเยอรมันสับสนได้
สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลเอกสารจากล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนี ท่านสามารถติดต่อขอรับรายชื่อล่ามได้ที่สถานทูตฯ หรือดูได้ที่โฮมเพจ www.bangkok.diplo.de ของสถานทูตฯ ในกรณีที่ท่านมีฉบับแปลอยู่แล้ว และแปลโดยล่ามที่มิได้รับการอนุญาตจากศาลหรือขึ้นทะเบียนต่อศาลในประเทศเยอรมนี ท่านควรติดต่อล่ามหรือผู้แปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบรับรองคำแปลนั้นๆ เสียก่อน จึงจะนำไปแสดงต่อนาย ทะเบียนเยอรมันได้ ทั้งนี้ สถานทูตฯ ไม่มีบริการตรวจสอบรับรองคำแปลให้
สำหรับคู่สมรสัญชาติไทยที่มีสถานภาพหย่า และเป็นการหย่าโดยความสมัครใจต่อหน้านายทะเบียนของไทย สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ยื่นขอให้รับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือ รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงด้วย เพราะท่านจะต้องยื่นคำร้องเป็นพิเศษอีกฉบับต่อกระทรวงยุติธรรมในประเทศเยอรมนีให้รับรองการหย่าของท่านในประเทศไทยเสียก่อน นายทะเบียนของเยอรมันจึงจะพิจารณา เอกสารอื่นๆ ของท่านและออกหนังสือสำคัญ (Ehefähigkeitszeugnis) ให้คู่สมรสกับท่านทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ ท่านสามารถขอรับแบบฟอร์มคำร้องเรื่องรับรองการหย่าได้ที่จากสำนักทะเบียนในเยอรมนีที่รับผิดชอบ หรือจากเว็บไซต์
https://www.berlin.de/sen/justiz/service/anerkennung-auslaendischer-entscheidungen-in-ehesachen/
กรณีที่คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันเคยจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายของต่างประเทศ ก็ต้องยื่นคำร้องแบบนี้ต่อทางเยอรมันเช่นกัน เอกสารที่ต้องแนบไปพร้อมแบบฟอร์มคำร้องนี้ อาทิ เช่น คำพิพากษาหย่า ทะเบียนการสมรส ทะเบียนการหย่า ใบสำคัญการหย่า พร้อมคำแปลภาษาเยอรมัน เมื่อการหย่าเป็นที่ยอมรับของทางการเยอรมันแล้ว นายทะเบียนจึงจะออกหนังสือสำคัญ (Ehefähigkeitszeugnis) ให้คู่สมรสทั้งสองทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้
ในการขอให้ออกหนังสือรับรองเพื่อแสดงต่อนายทะเบียนของไทย หรือที่เรียกว่า Konsularbescheinigung คู่สมรสจะต้องแสดง
- หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ (มีอายุการใช้ไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก) ชื่อตัว-ชื่อรอง และนามสกุลของคู่
สมรสในหนังสือฉบับนี้จะต้องถูกต้องตรงกับชื่อ-นามสกุลที่ปรากฏในหนังสือเดินทาง - หนังสือเดินทางของคู่สมรสทั้งสองคน (หนังสือเดินทางของคู่สมรสชาวเยอรมันต้องเป็นเล่มเดียวกับที่ใช้เดินทางเข้ามาใประเทศไทย)
- แบบสอบถามที่มีรายการข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสสัญชาติเยอรมัน (แบบสอบถามโหลดได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ) ได้แก่
ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ รายได้ ชื่อบริษัทหรือนายจ้างที่ทำงาน ภาระผูกพัน เช่นค่าเลี้ยงดู/เลี้ยงชีพ ชื่อและที่อยู่ของบุคคลอ้างอิง 2 คน กรณีคู่สมรสมีบุตรร่วมกันแล้ว และบุตรเกิดในประเทศไทย ขอให้นำสูติบัตรของบุตรทั้งตัวจริงภาษาไทยและคำแปลภาษาเยอรมันมาแสดงด้วย เพื่อที่สถานทูตฯ จะได้สะกดชื่อคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกต้องตรงกับการสะกดในสูติบัตรของบุตร ข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยราชการไทยต้องการ และจะปรากฎอยู่ในหนังสือรับรองที่สถานทูตออกให้ ทั้งนี้หนังสือรับรองของสถานทูตฯ จะออกให้เป็น 2 ภาษา ทั้งเยอรมันและไทย ค่าธรรมเนียม 85.68 เหรียญยูโร (ให้ชำระเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน)
สถานกงสุลกิติมศักดิ์ของเยอรมันที่เชียงใหม่ และภูเก็ตไม่สามารถออกหนังสือรับรองเพื่อการสมรสได้ ระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองคือ 10 วัน (วันทำการ) โดยท่านสามารถนำเอกสารตัวจริงต้นฉบับมายื่นด้วยตนเองที่สถานทูตฯ หรือส่งเอกสารดังกล่าวข้างต้นมาให้สถานทูตฯ ดำเนินการล่วงหน้าทางอีเมล์ rk-130@bangk.auswaertiges-amt.de แต่ทั้งนี้ในวันที่นัดหมายกับสถานทูตฯ ว่าจะมารับหนังสือรับรอง คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันจะต้องมาเซ็นชื่อรับหนังสือรับรองด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถมอบอำนาจ ให้ผู้อื่นหรือคู่สมรสมารับแทนได้ และจะต้องแสดงเอกสารต้นฉบับทั้งหมดในวันที่มารับ ได้แก่ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ หนังสือเดินทางของคู่สมรส (ในกรณีไม่ได้นำหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดง สามารถใช้สำเนาหนังสือเดินทางที่ผ่านการรับรองจากหน่วยราชการเยอรมันแล้วแสดงแทนได้) หลังจากนั้นจะต้องนำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงจะเป็นที่ยอมรับของนายทะเบียนของไทย ทั้งนี้สถานทูตฯ ไม่มีบริการนำหนังสือไปรับรองยังกระทรวงการต่างประเทศให้ท่าน
1.2. การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี
การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนีก็ดำเนินการ ณ สำนักทะเบียนเช่นกัน โดยคู่สมรสต้องแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนของเยอรมัน ที่เรียกว่า Anmeldung zur Eheschließung (แบบฟอร์มนี้ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนในเยอรมนีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนสมรส) และแสดงเอกสารทั้งหมดของคู่สมรส ตามที่กล่าวไปในข้อ 1.1. ต่อนายทะเบียน กรณีคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยยังไม่ได้รับอนุมัติวีซ่าและยังพำนักอยู่ในประเทศไทย ก็สามารถมอบอำนาจให้คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันไปแจ้งความประสงค์แทนตนได้ โดยต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า Vollmacht zur Anmeldung der Eheschließung แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจนี้ ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนในเยอรมนีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ลายเซ็นของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยในหนังสือมอบอำนาจต้องผ่านการรับรองจากสถานทูตฯ โดยให้มาเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ การรับรองลายเซ็นให้นำหนังสือมอบอำนาจที่กรอกแล้วเรียบร้อย และมีตราประทับของล่ามที่จดทะเบียนขึ้นกับทางการเยอรมันรับรองว่าได้แปลเนื้อหาของหนังสือมอบอำนาจแบบปากเปล่าให้ฟังแล้วมาแสดงพร้อมหนังสือเดินทางฉบับจริง จากนั้นจึงส่งแบบฟอร์มมอบอำนาจนี้และเอกสารทั้งหมดไปให้คู่สมรสในเยอรมนีดำเนินการต่อไป เอกสารตัวจริงต้นฉบับของคู่สมรสจะต้องผ่านการรับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือการรับรองไม่ปลอมแปลงจากสถานทูตฯ ด้วย ทั้งนี้สถานทูตฯ ขอแนะนำให้สอบถามนายทะเบียนที่เกี่ยวข้องในประเทศเยอรมนีด้วยว่า นอกเหนือไปจากเอกสารที่ระบุไว้ในคำแนะนำฉบับนี้ นายทะเบียนเยอรมันต้องการเอกสาร อื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อท่านจะได้จัดเตรียมเอกสารได้ทันเวลา
ค่าธรรมเนียมในการรับรองลายเซ็นในหนังสือมอบอำนาจฉบับละ 56.43 เหรียญยูโร ค่าธรรมเนียมในการรับรองสำเนาหนังสือเดินทางฉบับละ 25.72 เหรียญยูโร กำหนดให้ชำระเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน โปรดสอบถามเอกสารที่จะต้องใช้แสดงจากสำนักทะเบียนในเยอรมนีที่รับผิดชอบโดยตรง โดยปกติแล้ว ก็น่าจะใช้เอกสารแบบเดียวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาย-หญิง
ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้คู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสในเยอรมนีและพำนักระยะยาว (มากกว่า 90 วัน) เดินทางเข้าประเทศเยอรมนีด้วยวีซ่าท่องเที่ยว (วีซ่าเชงเก็น) และในบางกรณีอาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศอีกด้วย
การแปลเอกสาร โปรดดูหัวข้อ "การแปลเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน"
2. การสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันในประเทศไทย
เมื่อคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันทั้งสองนำ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” มาแสดง สถานทูตฯ ก็จะออก “หนังสือรับรอง”ให้คนละฉบับ เพื่อนำไปแสดงต่อนายทะเบียนของไทยในการยื่นขอจดทะเบียนสมรสต่อไป ระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองประมาณ 3 - 4 วัน ทั้งนี้คู่สมรสทั้งสองต้องแสดงหนังสือเดินทางของตน รวมทั้งแจ้งข้อมูลส่วนบุคคของตน ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ สถานที่ทำงาน/นายจ้าง ชื่อบุคคลและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู/เลี้ยงชีพ และชื่อ/ที่อยู่ของบุคคลอ้างอิงใน เยอรมนี 2 คน กรณีคู่สมรสส่งเอกสารต้นฉบับและสำเนาหนังสือเดินทางที่รับรองความถูกต้องโดยหน่วยราชการเยอรมันมาให้ดำเนินการล่วงหน้าทางไปรษณีย์ ก็ต้องแจ้งข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่ปรากฎในแบบสอบถามเช่นกัน ถ้าเอกสารหรือข้อมูลที่แจ้งมาไม่ครบถ้วน คู่สมรสจะต้องยอมเสียเวลารอให้เพิ่มเติมข้อมูลในวันที่มารับเอกสาร ทั้งนี้จะมารับด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมารับแทนก็ได้ แต่ไม่อนุญาตให้รับเอกสารนอกเวลาทำการ (8.30-11.30 น.) คู่สมรสจึงควรคำนึงถึงเรื่องนี้ในขณะวางแผนการท่องเที่ยวด้วย และเนื่องจากคู่สมรสทั้งสองไม่จำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับเอกสารด้วยตนเอง คู่สมรสอาจขอให้สถานทูตฯ จัดส่งหนังสือรับรองไปให้ยังที่อยู่ในประเทศเยอรมนีได้ แต่ทั้งนี้เอกสารทุกอย่างที่จำเป็นในการออกหนังสือรับรอง รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสจะต้องครบถ้วนและส่งมาที่สถานทูตฯ แต่เนิ่นๆ พร้อมใบรับรองว่าจะชำระค่าธรรมนียม สถานทูตฯ จึงจะส่งหนังสือรับรองไปให้ตามที่อยู่ของท่านได้ แต่อย่างไรก็ตาม การนำหนังสือไปให้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทยรับรองอีกครั้ง ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของคู่สมรสเอง ไม่เกี่ยวกับสถานทูตฯ
กรณีบุคคลสัญชาติเยอรมันจะจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติอื่น (ที่มิใช่สัญชาติไทย) คู่สมรสที่ถือสัญชาติอื่นต้องติดต่อสถานทูตฯ ในสังกัดของตนเอง เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองให้ด้วยเช่นกัน
3. คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยตามข้อ 1 และข้อ 2
- สำหรับคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันที่มีสถานภาพ “หย่า”สถานทูตฯ ขอแนะนำให้นำ “คำพิพากษาของศาล” ที่แสดงว่าได้หย่าจากคู่สมรสเดิมติดตัวมาด้วย เพราะบ่อยครั้งที่นายทะเบียนของไทยประสงค์ที่จะขอทราบรายละเอียดของการหย่า
- คู่สมรสควรสอบถามสำนักทะเบียนที่ตนประสงค์จะจดทะเบียนสมรสว่า “หนังสือรับรอง” เพื่อการสมรสที่ได้รับจากสถานทูตจะต้องผ่านการประทับตราจากกรมการกงสุล/กระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วยหรือไม่ กรณีที่จำเป็น โปรดติดต่อกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หรือ สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย เท่าที่ทราบระยะเวลากำเนินการ 2-3 วันทำการ หรือมากกว่านั้น บางครั้งอาจต้องทำการจองคิวในระบบออนไลน์ของกรมการกงสุลด้วย โปรดตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซด์ของกรมการกงสุลได้ที่ https://consular.mfa.go.th
- เพื่อให้การสมรสในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของหน่วยราชการในประเทศเยอรมนี เช่นในการแจ้งให้ทางการจดบันทึกการ สมรสของไทย เป็นต้น สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ท่านนำใบสำคัญการสมรส และทะเบียนสมรส (คร. 2) ของไทยมาติดต่อที่สถานทูตฯ เพื่อขอให้ดำเนินการรับรองว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง/ไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ด้วย
- สถานทูตฯ ไม่อาจให้ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยราชการไทยได้ เช่น ขอทราบที่อยู่หรือ e-mail address ของสำนักทะเบียนต่างๆ ของไทย ในทางปฏิบัติการจดทะเบียนสมรสของไทยจะกระทำ ณ ที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ โดยมิต้องนัดหมายล่วงหน้าแต่ประการใด ส่วนการสมรสนอกสถานที่จะกระทำได้หรือไม่ และเสียค่าใช้จ่ายเท่าใด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของท่านและสำนักทะเบียน สถานทูตฯ มิอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้
4. ระเบียบการขอวีซ่า/การเข้าพำนัก
ดูรายละเอียดได้จากเว็บไซด์ของสถานทูตฯ หรือติดต่อโดยตรงกับแผนกวีซ่าของสถานทูตฯ กรณีมีคำถามเกี่ยวกับการขอวีซ่าและหรือการพำนักในประเทศเยอรมนี สามารถสอบถามทางอีเมล์ได้ที่ visa@bangk.diplo.de
****************************
การสงวนสิทธิ์: คำแนะนำฉบับนี้เกิดจากการรวบรวมและประมวลข้อมูลในส่วนที่สถานทูตฯ รับทราบมาในขณะจัดทำเอกสาร การเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ จากเอกสารฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้ สถานทูตฯ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การสูญหายของเอกสารทางไปรษณีย์ เป็นต้น