Willkommen auf den Seiten des Auswärtigen Amts

สุนทรพจน์จาก ดร. แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เนื่องในโอกาสวันชาติเยอรมนี ปี 2567

03.10.2024 - Rede

เรียนท่านประธานวุฒิสภา

ท่านรัฐมนตรีทั้งหลาย สมาชิกรัฐสภา

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

พี่น้องชาวเยอรมัน

และมิตรสหายของประเทศเยอรมนีที่เคารพทุกท่าน

สวัสดีครับ และยินดีต้อนรับทุกท่านสู่งานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันชาติของเรา ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านมาร่วมเฉลิมฉลองกับเราในโอกาสครบรอบ 34 ปีของการรวมชาติ หลังจากที่ประเทศของผมได้ผ่านพ้นการแบ่งแยกที่ยาวนานหลายทศวรรษ

ทั้งนี้ ในปีนี้การเฉลิมฉลองมีความพิเศษยิ่งขึ้น เพราะยังเป็นวันครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ 75 ปี แห่งการกำเนิดรัฐธรรมนูญในแบบฉบับที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ ”กฎหมายพื้นฐาน” อีกด้วย โดยมาตรา 1 ซึ่งถูกอ้างถึงบ่อยครั้ง มีใจความว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะละเมิดมิได้ การเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน” หลักการนี้ เป็นแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประเทศเยอรมนี และความเป็นตัวตนของประเทศของเรา ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา ทั้งประเทศเยอรมนีและยุโรป ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้ ความขัดแย้งและแนวปฏิบัติแบบเดิมที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษก็สามารถก้าวข้ามได้ หนึ่งในตัวอย่างแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังที่สุดในยุโรปก็คือการก่อตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความสำเร็จทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

เมื่อผมมองย้อนกลับไปในปีแรกที่ผมมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ผมรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในความเข้มแข็งและความมีน้ำอดน้ำทนของคนไทย ในการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างอุทกภัยครั้งใหญ่ในขณะนี้ รวมถึงคลื่นความร้อนที่รุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก นอกจากการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ผมยังได้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของคนในประเทศนี้ ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในด้านวัฒนธรรม การเมือง หรือสังคม

ขณะที่ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่เพิ่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผมได้ให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่ในการกระชับความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันในทุกด้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับค่านิยมพื้นฐานของสหประชาชาติ เช่น ความเสมอภาคในอธิปไตยของรัฐ บูรณภาพแห่งดินแดน สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ผมรู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ที่มิตรภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนีได้พัฒนาไปอีกขั้น ผ่านการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และคณะผู้แทนทางธุรกิจกลุ่มใหญ่ในเดือนมกราคม รวมถึงการเยือนกรุงเบอร์ลินของนายกรัฐมนตรีไทยถึงสองครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีก่อนหน้านั้น เราต้องพบว่าหลักการพื้นฐานที่เรามีร่วมกันกำลังถูกท้าทายโดยตรง ซึ่งในโลกที่ไร้พรมแดนอย่างในปัจจุบัน เราต่างทราบดีว่าไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกัดเซาะสันติภาพ กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักการประชาธิปไตยไปได้ อีกทั้งเรายังได้เห็นกระแสของการบิดเบือนข้อมูล การไม่ยอมรับความเห็นต่าง และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนข้อเท็จจริงมีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนผู้ติดตาม ทำให้เราในฐานะชุมชนนานาชาติยิ่งต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อปกป้องหลักการเหล่านี้ เพราะมันคือสิ่งที่ค้ำจุนความหวังสำหรับอนาคตที่ดีและความเจริญรุ่งเรืองของเรา

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีจะต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เรามีร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ในฐานะที่ประเทศเยอรมนีเป็นประธานร่วมกับประเทศเม็กซิโกของกลุ่มคณะกรรมการสิทธิเสมอภาค เรามีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวในฐานะประเทศสมาชิกแรกที่มาจากทวีปเอเชียเมื่อไม่นานมานี้ โดยเราได้ให้คำมั่นร่วมกันที่จะผลักดันเป้าหมายของความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร

ดังนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้  เราจึงมาเฉลิมฉลองมิตรภาพที่เชื่อมประเทศของเราทั้งสองไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือในแง่มุมความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เป็นมิตรภาพที่ก่อร่างขึ้นจากการพบปะกันนับครั้งไม่ถ้วนระหว่างผู้คนจากทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา หรือนักท่องเที่ยว ไปจนถึงกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของเรา ซึ่งมิตรภาพเหล่านี้เอง ที่จะช่วยทำให้เราสามารถร่วมมือเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในยุคสมัยของพวกเราได้

nach oben