Willkommen auf den Seiten des Auswärtigen Amts

คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส

Frauenhand mit Ehering, © colourbox

Artikel

คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนสมรส

ข้อมูลเบื้องต้น

ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ โดยการจดทะเบียนสมรสในสถานทูตเยอรมนีนั้นไม่สามารถกระทำได้ และการจัดงานสมรสตามพิธีทางพุทธศาสนา โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนของสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ จะไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศเยอรมนี

สำนักทะเบียน (ในเยอรมนีและไทย) แต่ละแห่งนั้น อาจมีดุลยพินิจในการดำเนินการจดทะเบียนสมรสที่แตกต่างกัน ขอแนะนำให้ท่านติดต่อสอบถามเงื่อนไขต่าง ๆ โดยตรงกับสำนักทะเบียนที่ท่านประสงค์จะทำการจดทะเบียนสมรส

สำนักทะเบียนเขตบางรักได้แจ้งสถานทูตฯ ว่า การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • พยานบุคคลที่ไปแสดงตัวในวันจดทะเบียนสมรสจะต้องรู้จักกับคู่สมรส ทั้งนี้จะเป็นการดีหากพยานเป็นญาติของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้
  • นอกจากนี้ต้องนำล่ามแปลภาษาไปด้วย หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจภาษาไทยดีเพียงพอ
  • สำหรับคู่สมรสที่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข อาจไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้

สถานทูตฯ ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเงื่อนไขในการดำเนินการจดทะเบียนสมรสจากสำนักทะเบียนไทยอื่น ๆ 

การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย คู่สมรสสามารถยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียน (สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ) ใดก็ได้ได้ตามความประสงค์ บางสำนักทะเบียน เช่น สำนักทะเบียนเขตบางรัก จะจำกัดจำนวนคู่สมรสที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ในแต่ละวัน เมื่อมีผู้ยื่นความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสครบจำนวนคู่ตามที่กำหนด สำนักทะเบียนจะไม่สามารถรับดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้ได้อีก

การจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับบุคคลสัญชาติไทย

1. การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

คุณสมบัติของคู่สมรสสัญชาติไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มีดังต่อไปนี้ (ตัดตอนบางส่วน)

  • มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 
  • มีความสามารถในการทำธุรกรรมทางกฎหมายได้
  • ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงกับคู่สมรสของตน
  • บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
  • หญิงที่คู่สมรสตาย หรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องมี “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Ehefähigkeitszeugnis) เอกสารนี้จะออกโดยสำนักทะเบียนในประเทศเยอรมนีที่คู่สมรสสัญชาติเยอรมันมีถิ่นพำนักอยู่ หรือเคยมีถิ่นพำนัก หรือสังกัดอยู่ สถานทูตฯ ไม่สามารถออกเอกสารนี้ให้ได้

ขั้นตอนในการขอ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบกับคำร้องขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ (สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่สำนักทะเบียน หรือสถานทูตฯ) เพื่อให้สำนักทะเบียนเยอรมันตรวจสอบว่าคู่สมรสทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเยอรมันที่จะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ตรวจสอบรายละเอียดการเตรียมเอกสารและการดำเนินการกับสำนักทะเบียนเยอรมันที่รับผิดชอบโดยตรง

เอกสารราชการของไทยสามารถขอรับได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่คู่สมรสสัญชาติไทยมีทะเบียนบ้านอยู่ ไม่สามารถขอเอกสารผ่านทางสถานทูตได้

ก่อนที่จะยื่นเอกสารทางราชการของไทยแนบไปกับคำร้องขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ต่อสำนักทะเบียนเยอรมัน ท่านจะต้องนำเอกสารเหล่านี้ไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน และโดยปกติแล้วเอกสารทางราชการของไทยตัวจริง จะต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง (Legalisationsvermerk) หรือรับรองไม่ปลอมแปลง (Echtheitsvermerk) จากสถานทูตฯ ก่อน (เอกสารแนะนำในเรื่องของการรับรองเอกสารอ่านได้ที่นี่) โดยสำนักทะเบียนของเยอรมันจะเป็นผู้แจ้งว่าเอกสารราชการของไทยจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง หรือรับรองไม่ปลอมแปลงจากทางสถานทูตเยอรมนีหรือไม่ 

การแปลเอกสารภาษาไทยเป็นภาษาเยอรมันนั้น สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลเอกสารจากนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนี ท่านสามารถดูรายชื่อนักแปลได้ที่ สำนักงานแปลเอกสารในประเทศไทย 

ในกรณีที่ท่านมีฉบับแปลอยู่แล้ว และแปลโดยนักแปลที่มิได้รับการอนุญาตจากศาลหรือขึ้นทะเบียนต่อศาลในประเทศเยอรมนี ท่านควรติดต่อนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบรับรองคำแปลนั้นเสียก่อน จึงจะนำไปแสดงต่อสำนักทะเบียนเยอรมันได้ ทั้งนี้ สถานทูตฯ ไม่มีบริการตรวจสอบรับรองคำแปลให้

การขอให้ออกหนังสือรับรอง (Konsularbescheinigung)

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องมีหนังสือรับรองที่ออกโดยสถานทูตฯ และต้องยื่นเอกสารรับรองนี้ให้กับสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้หนังสือรับรองของสถานทูตฯ จะออกให้เป็น 2 ภาษา ทั้งเยอรมันและไทย

ในการขอให้ออกหนังสือรับรองเพื่อแสดงต่อนายทะเบียนของไทย กรุณาส่งเอกสารดังต่อไปนี้มาให้สถานทูตฯ ล่วงหน้าทางอีเมล์ได้ที่ rk-130@bangk.auswaertiges-amt.de

  • หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ (มีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออกเอกสาร) 
  • หนังสือเดินทางของคู่สมรสทั้งสองคน
  • แบบสอบถามที่มีรายการข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสสัญชาติเยอรมัน (แบบสอบถามโหลดได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ) โดยจะเป็นข้อมูลที่หน่วยงานของไทยต้องการทราบ

ระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองคือ อย่างน้อย 15 วันทำการ โดยทางสถานทูตฯ จะเริ่มนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปีจะมีการส่งคำขอเข้ามามากกว่าในช่วงปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานทูตฯ ใช้เวลาในการดำเนินการนานขึ้นได้

ทั้งนี้สถานทูตฯ จะไม่ตอบยืนยันการได้รับเอกสารของท่าน แต่จะแจ้งกลับไปยังคู่สมรสสัญชาติเยอรมันทางอีเมล เพื่อแจ้งว่าจะเข้ามารับเอกสารได้เมื่อใด และต้องนัดหมายอย่างไร

คู่สมรสสัญชาติเยอรมันสามารถยื่นฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเดินทางเยอรมันกับสำนักทะเบียนไทยล่วงหน้าได้ ทั้งนี้กรุณาสอบถามกับสำนักทะเบียนของไทยโดยตรงว่าต้องยื่นเอกสารใดบ้าง นอกจากนั้น ท่านสามารถส่งฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเดินทางเยอรมันมาพร้อมเอกสารอื่น ๆ ได้ เพื่อให้สถานทูตสะกดชื่อ-นามสกุลคู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยตามฉบับแปลนั้น

ในวันที่นัดหมายกับสถานทูตฯ เพื่อรับหนังสือรับรอง คู่สมรสสัญชาติเยอรมันจะต้องมาแสดงตัวด้วยตนเองเพื่อมาลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองนี้

และจะต้องแสดงเอกสารในวันที่มารับเอกสารคือ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตัวจริง และหนังสือเดินทางตัวจริงของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย (ในกรณีไม่ได้นำหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดง สามารถใช้สำเนาหนังสือเดินทางที่ผ่านการรับรองจากหน่วยราชการเยอรมันแล้วแสดงแทนได้)

ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรองคือ 85.68 ยูโร ให้ชำระในวันที่มีนัดรับเอกสารเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนของสถานทูตฯ ในวันดังกล่าว (สามารถชำระได้เป็นเงินสดหรือด้วยบัตรเครดิต Visa/Mastercard)

กรณีคู่สมรสมีบุตรร่วมกันแล้ว และบุตรเกิดในประเทศไทย ขอให้ยื่นสูติบัตรของบุตรฉบับภาษาไทยด้วย เพื่อที่สถานทูตฯ จะได้สะกดชื่อคู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกต้องตรงกับการสะกดในสูติบัตรของบุตร

หลังจากนั้นจะต้องนำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้สถานทูตฯ ไม่มีบริการนำหนังสือไปรับรองยังกระทรวงการต่างประเทศให้ท่าน

สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เชียงใหม่ ภูเก็ตและพัทยา ไม่สามารถออกหนังสือรับรองเพื่อการสมรสได้ แต่ท่านสามารยื่นเอกสารเพื่อขอหนังสือรับรองผ่านทางสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เชียงใหม่และภูเก็ตได้ โดยคู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องมาแสดงตัวในวันที่มีนัดรับหนังสือรับรองนี้ที่สถานทูตฯ กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง ไม่สามารถรับหนังสือรับรองจากกงสุลกิตติมศักดิ์ได้

2. การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี

การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนีจะดำเนินการ ณ สำนักทะเบียน โดยคู่สมรสสัญชาติเยอรมันต้องขอเอกสารนัดหมายในการจดทะเบียนสมรส ที่เรียกว่า Anmeldung zur Eheschließung (แบบฟอร์มนี้ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนเยอรมันที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนสมรส) กรณีที่คู่สมรสสัญชาติเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการขอเอกสารนี้แต่เพียงผู้เดียว  คู่สมรสสัญชาติไทยต้องมอบอำนาจให้คู่สมรสสัญชาติเยอรมันไปแจ้งความประสงค์แทนตน  โดยต้องทำหนังสือมอบอำนาจที่เรียกว่า Vollmacht zur Anmeldung der Eheschließung แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจนี้ ขอรับได้ที่สำนักทะเบียนเยอรมันที่คู่สมรสจะจดทะเบียนสมรส หากสำนักทะเบียนเยอรมันต้องการให้มีการรับรองลายมือชื่อของคู่สมรสสัญชาติไทย ท่านสามารถมาติดต่อสถานทูตฯ เพื่อทำเรื่องขอรับรองลายมือชื่อแบบมีค่าใช้จ่าย โดยทำการนัดหมายที่ระบบนัดหมายเพื่อรับรองลายมือชื่อที่นี่

การแปลเอกสารไทยเป็นภาษาเยอรมันจะดำเนินการแปลในประเทศไทยหรือประเทศเยอรมนีก็ได้

แต่ทั้งนี้สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลจากนักแปลคนเดียวเพื่อที่การสะกดชื่อเฉพาะต่าง ๆ ในเอกสารจะได้ถูกต้องตรงกันทุกฉบับ เพราะนักแปลแต่ละคนก็มีวิธีการถ่ายทอดภาษาไทยเป็นตัวสะกดภาษาเยอรมันที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนั้นแล้ว โดยปกติสำนักทะเบียนเยอรมันจะมีความประสงค์ให้นำเอกสารราชการของไทยตัวจริงมารับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือการรับรองไม่ปลอมแปลงจากสถานทูตฯ ด้วย

สถานทูตขอแจ้งให้ทราบว่า คู่สมรสสัญชาติไทยที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี และพำนักระยะยาว (มากกว่า 90 วัน) ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีโดยใช้วีซ่าเชงเก็น และอาจถูกสั่งให้ออกนอกประเทศได้หากฝ่าฝืน

การสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับเยอรมัน หรือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ในประเทศไทย

การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

เมื่อคู่สมรสสัญชาติเยอรมันทั้งสองนำ “หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้” ของทั้งคู่เพียงฉบับเดียวมาแสดง สถานทูตฯ จะออก “หนังสือรับรอง” ให้คนละฉบับ เพื่อนำไปแสดงต่อสำนักทะเบียนของไทยในการยื่นขอจดทะเบียนสมรสต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองอย่างน้อย 15 วันทำการ ทั้งนี้คู่สมรสทั้งสองต้องแสดงหนังสือเดินทางของตน  (หรือสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยราชการเยอรมัน) และเมื่อยื่นคำร้องขอใบรับรอง คู่สมรสแต่ละฝ่ายจะต้องยื่นแบบสอบถามที่กรอกข้อมูลมาครบถ้วนล่วงหน้ามาพร้อมกับคำร้องขอออกใบรับรองด้วย 

การดำเนินการจะเริ่มหลังจากสถานทูตฯ ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้วเท่านั้น

คู่สมรสทั้งสองไม่จำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับเอกสารด้วยตนเอง หากมีการยื่นเอกสารทุกอย่างที่จำเป็นในการออกหนังสือรับรองครบถ้วนมาที่สถานทูตฯ คือ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตัวจริง  แบบสอบถามที่กรอกข้อมูลของทั้งสองฝ่าย และสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยราชการเยอรมันหรือหนังสือเดินทางตัวจริงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีการชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่อนุญาตให้รับเอกสารนอกเวลาทำการ (8.30-11.30 น.) โดยเด็ดขาด

เนื่องจากคู่สมรสทั้งสองไม่จำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับเอกสารด้วยตนเอง สถานทูตฯ สามารถจัดส่งหนังสือรับรองไปให้ยังที่อยู่ในประเทศเยอรมนีได้  หากมีการยื่นเอกสารทุกอย่างที่จำเป็นในการออกหนังสือรับรองครบถ้วนล่วงหน้า และมีใบรับรองว่าจะชำระค่าธรรมเนียม (Kostenübernahmeerklärung) แนบมาพร้อมกัน  ทั้งนี้สถานทูตฯ จะไม่ตอบยืนยันการได้รับเอกสารของท่าน 

ทั้งนี้ หลังจากนั้นจะต้องนำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสำนักทะเบียนของไทย ทั้งนี้สถานทูตฯ ไม่มีบริการนำหนังสือไปรับรองยังกระทรวงการต่างประเทศให้ท่าน

กรณีบุคคลสัญชาติเยอรมันจะจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติอื่น (ที่มิใช่สัญชาติไทย) คู่สมรสที่ถือสัญชาติอื่นต้องติดต่อสถานทูตฯ ของตนเอง เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองให้ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยนั้น สถานทูตฯ ขอแนะนำให้คู่สมรสสัญชาติเยอรมันที่มีสถานภาพ “หย่า” นำ “คำพิพากษาของศาล” ที่แสดงว่าได้หย่าจากคู่สมรสเดิมติดตัวมาด้วย 

สถานทูตฯ ไม่อาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่หรืออีเมลของสำนักทะเบียนต่าง ๆ ของไทยได้  ในทางปฏิบัติการจดทะเบียนสมรสของไทยจะกระทำ ณ สำนักทะเบียน (สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ) ส่วนการสมรสนอกสถานที่สามารถกระทำได้หรือไม่นั้น กรุณาติดต่อสำนักทะเบียนที่รับผิดชอบโดยตรง

สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ท่านนำใบสำคัญการสมรส (คร. 3) และทะเบียนสมรส (คร. 2) ของไทยมาติดต่อที่สถานทูตฯ เพื่อขอให้ดำเนินการรับรองว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง/ไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ด้วย เพื่อให้สามารถใช้เอกสารดังกล่าวกับหน่วยราชการในประเทศเยอรมนีได้ (เช่น การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี เป็นต้น) ท่านสามารถอ่านข้อมูลในเอกสารแนะนำเกี่ยวกับการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงได้ที่นี่

ระเบียบการขอวีซ่า/สิทธิในการอยู่อาศัย

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดของระเบียบที่เกี่ยวกับกฎหมายสำหรับชาวต่างชาติ และข้อมูลรวมทั้งเอกสารแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอวีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในประเทศเยอรมนี ได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ ในหมวด “วีซ่าและการเดินทาง” ได้ที่นี่

หากท่านมีคำถามเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลที่ระบุบนเว็บไซต์ของสถานทูตฯ สามารถติดต่อกับแผนกวีซ่าของสถานทูตฯ โดยตรง ได้ทางอีเมล visa@bangk.diplo.de

โดยทั่วไป แผนกวีซ่าจะให้ข้อมูลหลังจากที่ท่านยื่นคำร้องขอวีซ่าแล้ว และจะแจ้งกับผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าโดยตรงเท่านั้น ไม่แจ้งกับบุคคลที่สาม

สถานทูตฯ ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับวีซ่าของไทยสำหรับบุคคลสัญชาติเยอรมันหลังการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทยได้ กรุณาติดต่อหน่วยงานราชการไทยโดยตรง

--

การสงวนสิทธิ์: 

คำแนะนำนี้อ้างอิงจากความรู้และประสบการณ์ของสถานทูตฯ ณ เวลาที่จัดทำขึ้น การเรียกร้องทางกฎหมายใด ๆ จากคำแนะนำนี้ไม่สามารถกระทำได้ สถานทูตฯ ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การสูญหายของเอกสารทางไปรษณีย์ เป็นต้น

ดาวน์โหลดเอกสารแนะนำเพิ่มเติมและแบบฟอร์มคำร้องดังนี้:

Die deutsche Botschaft Bangkok hat für Sie Listen von Übersetzern zusammengestellt. Die Botschaft weist darauf hin, dass sie lediglich Übersetzungen von Übersetzern berücksichtigen kann, die in…

Übersetzungsbüros in Thailand

nach oben