ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซ์กระทรวงการต่างประเทศ

พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน - 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย

ภาพกราฟฟิตี้บนกำแพงด้านนอกสถานทูตเยอรมัน กรุงเทพฯ

ประเทศเยอรมนีและประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเมื่อ 160 ปีที่แล้ว ในโอกาสนี้จึงได้มีการวาดภาพกราฟฟิตี้บนกำแพงด้านนอกสถานทูตเยอรมัน, © picture alliance/dpa | Carola Frentzen

07.02.2022 - บทความ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 คณะทูตปรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีกับราชอาณาจักรสยาม ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมนีและประเทศไทย ซึ่งมีการฉลองครบรอบ 160 ปี ในปี พ.ศ. 2565 นี้

160 Jahre Deutsch-Thailändische Beziehungen

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ปรัสเซียเป็นรัฐเกษตรกรรมที่ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การเป็นรัฐอุตสาหกรรมเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ในปี พ.ศ. 2403 ปรัสเซียได้ส่งเรือรบไอน้ำขนาดเล็กชื่อ "คาป อาร์โคนา" พร้อมเรืออีกสามลำจากทะเลบอลติกไปยังทะเลจีนใต้เพื่อสร้างสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจบริเวณนั้น ซึ่งหนึ่งในผลของการเดินเรือสำรวจในครั้งนั้นคือการลงนามในสนธิสัญญาไมตรี การค้าและการเดินเรือในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 ระหว่างสหภาพศุลกากรเยอรมันและราชรัฐแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนและเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ กับราชอาณาจักรสยาม สนธิสัญญานี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมนีและประเทศไทย ที่ได้พัฒนาเป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่าจะทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือประชาสังคมจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีประมาณ 115,000 คน และคนเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 35,000  คน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันกว่า 950,000 คน ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน โดยมีบริษัทเยอรมันกว่า 600 บริษัทตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง มีความร่วมมือทางวิชาการในด้านต่าง ๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศมากกว่า 230 โครงการ นอกจากนี้  ในด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับทวิภาคี ยังได้มีการให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการกระชับความร่วมมือ และในประเด็นที่เกี่ยวกับหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนด้วย

สนธิสัญญาไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือ ระหว่างสหภาพศุลกากรเยอรมันและราชรัฐแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนและเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ กับ ราชอาณาจักรสยาม
สนธิสัญญาไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือ ระหว่างสหภาพศุลกากรเยอรมันและราชรัฐแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนและเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ กับ ราชอาณาจักรสยาม© AA

พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก นี่เป็นสาเหตุที่เราเลือกหัวข้อ "พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน"  ในการเฉลิมฉลองปีแห่งการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตในครั้งนี้ ทั้งสองประเทศต่างต้องการที่จะกระชับความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลของรัฐบาลเยอรมัน  ได้มีการสนับสนุนโครงการมากกว่า 30 โครงการในประเทศไทย หนึ่งในโครงการนี้ คือ โครงการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน ด้วยเงินสนับสนุน 20 ล้านยูโร ซึ่งความร่วมมือจะมุ่งเน้นการลดการปล่อยมลพิษ เช่น การเพาะปลูกข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ หรือการส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

เศรษฐกิจและการศึกษา

ประเทศเยอรมนีและประเทศไทยประสบความสำเร็จในความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบอาชีวศึกษามาอย่างยาวนาน วิทยาลัยเทคนิคและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยในปัจจุบัน มีรากฐานมาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนจากความช่วยเหลือจากประเทศเยอรมนี ความร่วมมือในการฝึกอบรมที่สำคัญที่สุด คือ โครงการ "เยอรมัน-ไทย เพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี" (German Thai Dual Excellence Education program – GTDEE) ซึ่งดำเนินการมามากกว่า 10 ปี และมีส่วนช่วยให้คนไทยได้รับการฝึกอบรมอาชีพตามมาตรฐานเยอรมันในประเทศไทย

ไปด้านบน